พลังคำพูดที่ถ่อมตน (แด่คุณพ่อกตัญญู อัครฮาด)
“การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเชื่อมต่อซึ่งกันและกันทุกสถานการณ์ ธุรกิจการค้า การพบปะทางสังคม ซึ่งคำพูด ถ้อยคำวาทะในการพูดคุย จำเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารทั้งนั้น การใช้ถ้อยคำหรือเรียบเรียงคำพูดให้ถูกต้องกับสถานที่ สถานการณ์ ความเหมาะสม และเวลา ส่งผลให้คำพูดของคุณมีน้ำหนักมากขึ้นที่จะแสดงถึงความอ่อนโยน ความดุดัน ความปรารถนา รวมถึงพลังอำนาจ ถึงขนาดที่คุณจะสามารถโน้มน้าวและเปลี่ยนแปลงความคิดคนที่ฟังคุณอยู่ได้ในขณะนั้น คำพูดสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น เปลี่ยน(พลิก)สถานการณ์ หรือเปลี่ยนตัวเองก็ย่อมได้”
แรงบันดาลของบทความนี้ ผู้เขียนได้แรงจูงใจมาจากอ่านหนังสือของ Napoleon Hill’s (นโปเลียน ฮิลล์) ชื่อว่า The Laws of Success ผู้แปล ปสงค์อาสา หน้า 477-507 และอีกเล่มจากหนังสือของผู้แต่ง Sam Horn(แซม ฮอร์น) ชื่อว่า Tongue Fu ผู้แปล : เสถียร เทศทองและอมรวรรณเทศทอง หน้า191- 218 อ่านและกรั่นกรองมาเป็นไอเดียของผู้เขียนในบทความนี้ ขอให้ผู้อ่านลองเปิดใจ และผ่อนคลายไปกับการอ่านบทความนี้นะคะ เสมือนบทความนี้เป็นไอเดียและปรับใช้กับสถานการณ์ของตัวคุณเอง
“จงจำไว้ว่า คำพูดเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดในการแสดงให้เห็นบุคลิกลักษณะของท่าน และด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นประโยชน์แก่ท่านในการที่จะสร้างแบบฉบับที่ทรงอำนาจและมีเสน่ห์” จากหนังสือ นโปเลียน ฮิลล์ (หน้า 502,แปล)
คำพูดเสมือนเป็นตัวแทนของคุณที่เปล่งวาจาออกไป วาทะในการใช้ถ้อยคำ และการที่จะเข้าถึงความรู้สึกของคนฟังและโน้มน้าวและให้คล้อยตาม ในหนังสือที่อ่านของ Napoleon Hill’s (นโปเลียน ฮิลล์) ท่านได้ยกตัวอย่างของสถานกานณ์ที่มาร์ค แอนโทนี ซึ่งเป็นเพื่อนของซีซ่าร์ในยุคโรมัน(ชาวโรมันบางส่วนไม่ชอบการปกครองของซีซ่าร์)ที่ถูกลอบสังหารโดยบรูตัส (สถานการณ์ตอนนั้นเหล่าฝูงชนชาวโรมันยอมรับในการกระทำของบรูตัส) ได้ขึ้นมาพูดท่ามกลางฝูงชนชาวโรมันจำนวนมากแต่สุดท้ายแอนโทนี่สามารถพลิกสถานการณ์ในครั้งนั้นได้ด้วยการใช้ถ้อยคำในการสื่อสารกับฝูงชนชาวโรมัน
และบทความนี้จะถ่ายทอดไอเดียจากเรื่องเล่าจากคุณพ่อของผู้เขียนเองนะคะ ที่อาจจะต่อยอดผู้อ่านในการปรับใช้ในแบบสไตล์และชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณเอง
-คำพูดที่ถ่อมตน
เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรไมตรีเพราะคุณไม่รู้ว่าการพบกันครั้งแรก แน่นอนว่ายังไม่รู้จักกันดีพอ เป็นสิ่งที่ดีที่คุณเข้าหากลุ่มคนด้วยการถ่อมตนก่อน ความถ่อมตนผู้เขียนจะพูดถึงคุณพ่อผู้ที่ล่วงลับไปเมื่อ 34 ปีที่แล้วด้วยอายุวัย 43 ปี แต่ผลงานของท่านจารึกไว้ตลอดกาล
ตอนที่ผู้เขียนยังเด็กจะอยู่กับคุณแม่ตลอด และชอบอยู่แต่ในบ้าน และคุณพ่อเสียตอนที่อายุยังเล็กมาก เห็นในบ้านมีรูปภาพคุณพ่อ มีใบปลิว มีเสื้อผ้าของท่าน และมีคำถามตามประสาเด็ก “ คุณพ่อทำอะไรคะ” คุณแม่ก็เล่าให้ฟัง แต่ตอนนั้นไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไรนัก บางครั้งเพื่อนคุณพ่อก็มาเยี่ยมคุณแม่ที่บ้านและพูดถึงในแวดวงตำแหน่งงานที่คุณพ่อทำ มีครั้งหนึ่งบุคคลคนที่ทำงานในวงการที่ดำรงตำแหน่งนี้ ได้มาเยี่ยมเยียนคุณแม่การมาครั้งนั้นไม่ได้มาเฉพาะคณะของท่านแต่เอานักข่าวมาด้วยเพื่อทำข่าว กาลเวลาผ่านไปเรื่อยมา เริ่มเข้าใจและซึมซับ ถึงผลงานของคุณพ่อ มันช่างน่าสนใจจริงๆ
และจำความได้ทุกครั้งที่คุยกับคุณแม่ถึงความถ่อมตนของคุณพ่อ คุณแม่จะอมยิ้มทำให้อยากรู้ว่า “ไหนเล่ามาซิคะคุณแม่”….
ต้องขอย้อนเวลานะคะ (สมัยผู้เขียนยังเด็กเล็กๆ) คุณแม่เล่าว่า คุณพ่อเป็นคนที่ถ่อมตน วาทะในการพูดกับฝูงชนยอมรับว่าเก่ง ไม่แปลกเลยที่ผู้คนให้ความสนใจท่านและติดตามท่านในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นนักพูดตลอดทั้งในระหว่าง บวชเรียน และเป็นครู พอมาถึงจุดหนึ่งของชีวิตท่าน ที่ท่านต้องพูดเพื่อชิงตำแหน่งในจังหวัด ท่านเป็นนักพูดที่ใช้วาทะ ถ้อยคำการถ่อมตนในการพูด
เพื่อที่จะให้ตัวท่านเองถูกเลือกท่านเข้าดำรงตำแหน่ง ท่านต้องเดินสายในการพูด ทุกครั้งที่กลับมาบ้าน ท่านจะท่องชื่อบุคคลที่สำคัญในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก่อนที่ท่านจะไปปราศัยในพื้นที่นั้นๆ ฝึกพูดปราศัย โดยให้คุณแม่เป็นผู้ฟังและนั่งฟังจนพูดจบแล้วถามคุณแม่ว่า “ ผมพูดเป็นงัยบ้าง”
ในการปลุกใจประชาชน ท่านต้องเดินสายพูดตามสถานที่ต่างๆในจังหวัดที่เป็นทั้งเทศกาลงานรื่นเริงบ้าง หรือจัดตั้งเวทีปราศรัยบ้าง หรือไม่มีเวทีท่านก็ปราศรัย เพื่อให้เข้าถึงและโน้มน้าวจิตใจคนฟัง คุณแม่บอกว่าฝูงชนให้ความสนใจคุณพ่อนอกจากท่านจะทำตัวถ่อมตนในตัวเองแล้ว วาทะในการพูดก็ถ่อมตนเช่นกัน ท่านสร้างสถานการณ์ให้ผู้คนรู้สึกเป็นกันเองและให้เห็นถึงความจริงใจของท่าน สถานการณ์ไม่ใช่แค่บนเวทีเท่านั้น แต่ในชีวิตประจำวัน บริวารของท่านที่ติดตามและทำงานกับท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงลักษณะนิสัยของท่าน ทุกคนที่ทำงานกับท่านยินดีที่จะทำงานด้วยใจแม้จะเงินเดือนไม่มาก
คุณแม่เสริมต่อว่า ในช่วงเหตุการณ์หนึ่งที่ท่านปราศัย เป็นเหตุการณ์ที่ใช้ถ้อยคำและให้ฝูงชนที่รับฟังท่าน รู้สึกผ่อนคลายในระหว่างการปราศัยว่า คุณพ่อ : “ผมมีความประสงค์ที่อยากดำรงตำแหน่งนี้มาก เห็นใครไหว้หมด แม้แต่หมาผมก็ไหว้ พอกลับถึงบ้าน ผมเห็นคนหนึ่งนั่งอยู่ที่บ้าน ผมคิดว่าเป็นแขกที่มารอผมอยู่ที่บ้าน ผมยกมือไหว้ก่อนเลย พอเข้าไปดูใกล้ๆ อ้าว!! ภรรยาผมนี่”
ทุกคนที่นั่งฟังท่านปราศรัยต่างหัวเราะชอบใจ (นอกจากประชาชนจะชอนใจแล้ว มันเป็นโอกาสที่จะเปิดภาวะจิตใจของฝูงชนและเข้าถึงความรู้สึกของคนฟังด้วย ก่อนที่ท่านจะประสงค์พูดเรื่องที่ท่านต้องการ)
และอีกเหตุการณ์หนึ่งอยู่ที่บ้าน วันนั้นเจ้าหนี้มาหาที่บ้าน คุณพ่อไม่รู้เลยว่าเจ้าหนี้จะมาในลักษณะไหน คุณแม่บอกว่าในช่วงเวลานั้นก็หวั่นๆ ว่า เจ้าหนี้จะมาข่มขู่หรือทำร้ายรึป่าว สิ่งแรกที่คุณพ่อทำเมื่อเจ้าหนี้เดินเข้ามาที่บ้าน ท่านยกมือไหว้ก่อนเลยและท่านพูดว่า “ผมดีใจที่พวกท่านมาเยี่ยมที่บ้านนะครับ” “เชิญนั่งก่อนครับเดี๋ยวผมให้ลูกน้องเอาน้ำมาเสิร์ฟ “ และคุณพ่อยังให้ลูกน้องหาอาหารมาเสิร์ฟให้ด้วย คุณพ่อจะชวนคุยเรื่องอื่นๆ สร้างสถานการณ์ พอพูดคุยไปได้สักพักท่านก็บอกว่า “หมู่บ้านผม ที่นี่ชาวบ้านทำบ่อเกลือสินเธาว์ เดี๋ยวผมจะให้ลูกน้องไปสั่งเกลือสินเธาว์มาเป็นของฝากให้พวกท่านก่อนกลับบ้านนะครับ” คุยกันได้สักพักอีกเจ้าหนี้ได้ขอตัวกลับก่อน พร้อมของฝากแบกเกลือสินเธาว์กลับบ้าน แววตาคุณแม่เวลาเล่าปนรอยยิ้มไปด้วยพอเล่าจบแล้วพูดว่า “ไม่รู้ว่าพ่อแก้สถานการณ์นี้ได้ยังงัย แม่ก็งง”
เป็นงัยบ้างคะเรื่องราวของคุณพ่อของผู้เขียน หากคุณใช้คำพูดที่ถ่อมตนในการเริ่มพูด เสมือนคุณสร้างสถานการณ์ให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลาย และเข้าถึงจิตใจคนฟังและในระหว่างที่คุณพูดคุณก็จะเห็นอากัปกิริยาในการตอบสนอง เมื่อคุณเห็นคนฟังแสดงความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นอารมณ์ที่เปิดใจแล้ว คุณถึงเริ่มเข้าสู่ประเด็นของคุณที่คุณต้องการสื่อสาร ไม่ว่าช่วงยุคสมัยไหนผู้เขียนเชื่อว่าเราจะมีพลังงานที่ดึงดูดผู้คนส่วนหนึ่งนั้นมาจากการสื่อสารด้วยคำพูด ฝึกพูดฝึกใช้ในสถานการณ์และเวลา ใช้ถ้อยคำอาจจะมีใช้ผิดบ้าง ใช้ถูกบ้าง ถ้าใช้ผิดก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้มากกว่าที่จะตำหนิตัวเราเอง “ชีวิตคือการเรียนรู้และซ่อมมันซะ ซ่อมไปกับเหตุการณ์และสถานการณ์ใหม่ของคุณ ยิ่งคุณซ่อมมากเท่าไร คุณยิ่งเห็นเหตุการณ์ในมุมมองต่างๆมากขึ้น ทำให้มุมมองของคุณกว้างขึ้น และกว้างขึ้น”
“บทความนี้อุทิศแด่คุณพ่อกตัญญู อัครฮาด”
ผู้เขียน : Better Call Nika
Comments